ข่าวสาร >
2015
April
8
Review: JICA Training Program for Young Leaders by Mew
โดย : Adminstrator ( จำนวนผู้เข้าชม 15019 คน )

โครงการอบรมที่ประเทศญี่ปุ่นในเวลาร่วมเดือน
ในราคา 0 บาท + "เงิน" ให้ใช้ชีวิตได้อย่างสบาย ๆ





ถ้ามีโครงการนึง....พาคุณไปอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศไทยที่ประเทศญี่ปุ่นในเวลาร่วมเดือนในราคา 0 บาท + "เงิน" ให้ใช้ชีวิตได้อย่างสบายๆ



ถ้ามีโครงการนึง....พาคุณไปประเทศญี่ปุ่นในเวลาร่วมเดือนในราคา 0 บาท + "เงิน" ให้ใช้ชีวิตได้อย่างสบาย ๆ

และ

พาคุณไปสัมผัสชีวิตคนญี่ปุ่นจริง ๆ



แน่นอนต้องพาคุณไปเที่ยว ในที่ ๆ พิเศษสุด ๆ 



พาคุณไปอยู่กับครอบครัวญี่ปุ่น ที่จะไม่มีวันเหมือนการไปเที่ยวเองหรือไปกับทัวร์ใด ๆ



พาคุณไปพบกับมิตรภาพไม่ว่าจะเป็นเพื่อนคนญี่ปุ่น หรือเพื่อนคนไทย



บางทีอาจพาคุณไปพบกับสิ่งที่เรียกว่า พรหมลิขิต (ก็ได้) 



พาคุณไปเปิดโลกใบใหม่ แต่ก็ยังไม่ปล่อยให้คุณหลุดพ้นไปจากโลกใบเดิม เพราะ...



พาคุณไปเรียนรู้ในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรที่ทำงานและประเทศไทย 



และที่สำคัญที่สุดคือ

 "พาคุณไปสร้างแรงบันดาลใจให้กลับมาเพื่อช่วยกันพัฒนาบ้านเรา"



โครงการที่ไม่ธรรมดานี้ นี้มีชื่อธรรมดา ๆ ว่า...

"โครงการผู้นำเยาวชน ณ ประเทศญี่ปุ่น" (JICA Training Programs for Young Leaders)



ถ้าพื้นที่โฆษณาของเราได้ผลขอให้ลองเข้ามาดูรายละเอียดที่เราได้เข้าร่วมในปีที่แล้วได้เลยค่ะ

ช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว คงเป็นช่วงที่เรากำลังตัดสินใจ “ลอง” เปิดใจรับและทำสิ่งใหม่ ๆ สิ่งหนึ่งที่ไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้รับโอกาสที่ดีงามที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิต

เรารู้ข่าวการเปิดรับสมัครทุนผู้นำเยาวชน JICA หรือ Japan International Cooperation Agency (JICA) Training Program for Young Leaders ทาง Faccbook ผ่านหน้าเพจประชาสัมพันธ์ทุนการศึกษาเพจหนึ่ง (ขอขอบคุณ Blogger ที่แนะนำทุนดี ๆ ทุนนี้เข้ามานะคะ)

ทีแรกเห็นว่าเป็นโครงการอบรมเพื่อให้ไปญี่ปุ่น ก็ไม่คิดหาเหตุผลอะไรมากมายไปกว่า “การไปเที่ยว” เลยลองเปิดเข้าไปและพบว่าผู้ที่จะสมัครได้จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ โดยคุณสมบัติหลัก ๆ จะเป็นเรื่องของ “อายุ” ที่กำหนดไว้ว่าผู้สมัครต้องมีอายุระหว่าง 20 – 35 ปี (ซึ่งก็สามารถสมัครได้แน่นอน กิกิ) และไม่เคยไปประเทศญี่ปุ่นมาก่อนหน้านี้ (ส่วนปีนี้ (2014) ทาง JICA กำหนดแค่เพียงว่า ไม่เคยไปศึกษา ดูงาน หรือฝึกอบรมที่ญี่ปุ่นมาก่อน เท่านั้น)

แต่ที่เน้นมากที่สุด เห็นจะเป็น “ประสบการณ์การทำงาน” ในสาขาวิชาที่จะไปอบรมเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี เต็ม ซึ่งเราเองก็โชคดีมากที่เริ่มต้นทำงานกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งตั้งแต่หลังเรียนจบ (จึงครบ 1 ปี แบบเฉียดฉิวเลยทีเดียว)

จึงตัดสินใจขอคำปรึกษาและขออนุญาตจากพี่หัวหน้า ซึ่งเราโชคดีที่ได้มีหัวหน้างาน รวมทั้งพี่ ๆ เพื่อน ๆ ที่ทำงานที่เข้าใจและให้การส่งเสริมในการสมัครทุนครั้งนี้เป็นอย่างดี เราจึงสมัครเข้ารับการอบรมในสาขาการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (Community Small and Medium Enterprise (SMEs) Development and Promotion Course)

จากนั้นเราก็เริ่มเตรียมและเขียนใบสมัครเพื่อส่งให้กับทางสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและ ผู้สูงอายุ (“สท.”) หลังจากนั้นก็รอคอยวันที่ สท. ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับการสัมภาษณ์ และก็เข้ารับการสัมภาษณ์

จนมาถึงวันประกาศผลรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก ปรากฏว่ามีชื่อเราติดอยู่ในประกาศแผ่นนั้นด้วย

หลังจากนั้น ทาง สท. ผู้ใจดีได้จัดค่ายเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้นำเยาวชนทุกคนทุกสาขาก่อนเดินทางไปญี่ปุ่นด้วย ซึ่งเราจะได้รับการปูพื้นฐานความรู้ที่สำคัญและจำเป็นต้องรู้ในภาพรวมด้านต่าง ๆ ของสภาพที่ประเทศไทยของเราเป็นอยู่ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา การสาธารณสุขต่าง ๆ  เพื่อที่จะได้ใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการฝึกอบรมในแง่การเปรียบเทียบกับประเทศไทย นอกจากนั้นยังได้เรียนการใช้ภาษาญี่ปุ่นแบบพื้นฐานอีกด้วย

และแล้ววันเดินทางก็มาถึง เราทั้ง 15 ชีวิต เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นพร้อมกันในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2013 โดยสายการบิน Japan Airlines แล้วก็มาถึงสนามบินคันไซ ประเทศญี่ปุ่น ในเช้าของวันที่ 26 พฤศจิกายน 2013

เมืองแรกที่เราไปพักคือ เมือง Kobe ซึ่งอยู่ใน Hyugo Prefecture ที่นี่เป็นศูนย์ฝึกอบรมของ JICA ซึ่งใช้เป็นทั้งที่ฝึกอบรมและที่พักให้กับผู้เข้ารับการอบรม



เราได้เรียนรู้วิธีการและแนวทางการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์นี้อย่างละเอียด รวมทั้งได้เรียนวิชาสังคมญี่ปุ่นเบื้องต้นจากท่านอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และเรียนภาษาญี่ปุ่นเบื้องต้นเพื่อให้ใช้ดำรงชีวิตประจำวันในอีก 3 สัปดาห์ในญี่ปุ่นได้อีกด้วย



(ซึ่งอย่าคิดว่าเรียนแค่แป๊ปเดียวจะมีผลมากขนาดนั้นเลยเลยเหรอ เพราะเราเจอมากับตัวแล้วว่า ภาษาญี่ปุ่นขั้นพื้นฐานยิ่งกว่าพื้นฐาน (จริง ๆ) ที่เราเรียนที่นี่ + ภาษาอังกฤษนิดหน่อย + ภาษามือด้วย (ในบางครั้ง) ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตในญี่ปุ่นได้ไม่ลำบาก เราหลงทางก็สามารถหาทางกลับได้ทัน เราซื้อของใน Supermarket ไม่เป็น ก็หาคนมาช่วยเราได้ และที่สุดคือ เราไปอยู่กับครอบครัวคนญี่ปุ่นได้ และเล่นกับเด็ก ๆ ในครอบครัวได้ ก็เพราะภาษาญี่ปุ่นขั้นพื้นฐานยิ่งกวาพื้นฐานนี่แหละค่ะ ขอขอบคุณทาง สท. และ JICA ให้ความเมตากรุณาสอนพวกเรานะคะ)



ใน Kobe แห่งนี้ เราก็มีเวลาว่างไปเดินเที่ยวเล่น + Shopping กันอีกด้วย อ่อ ลืมเล่าไปว่า ทาง JICA มีความละเอียดอ่อนมากถึงขั้นที่ให้ทุนเป็น “ค่าเครื่องแต่งกาย” แก่ผู้เข้าร่วมทุกคนด้วยค่ะ เพราะเราเดาเองนะว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ทาง JICA ให้ความสนับสนุนมาจาก Developing Countries ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในเขตร้อน จึงอาจไม่มีเครื่องแต่งกายที่เหมาะกับสภาพอากาศหนาวเย็นของประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น เราผู้โชคดีทุกท่านจึงได้เงินค่าเครื่องแต่งกายเพิ่มขึ้นมาด้วยค่ะ (เอาไปซื้อเสื้อโคท ถุงเท้า รองเท้า กันให้หนำใจไปเลย กิกิ) ส่วนใครที่มีเครื่องแต่งกายที่จำเป็นเหล่านั้นอยู่แล้ว ก็นำเงินที่ทาง JICA ให้เท่ากันทุกคนไปใช้จ่ายอะไรก็ได้ตามอำเภอใจเลยค่ะ



และด้วยความที่เราสามารถนั่งรถไฟจาก Kobe ไปยัง Osaka ได้ ในเวลาประมาณ 30 นาที เราจึงได้ปฏิบัติการขึ้นรถไฟไป Osaka ยามค่ำคืนกันเรียบร้อยโรงเรียนญี่ปุ่นเลยค่ะ ขากลับก็วิ่งกันกลับมาที่ศูนย์ JICA เพราะกลัวจะไม่ทันเวลาปิด (เรายังจำความรู้สึกวันนั้นได้ดี ทั้งตื่นเต้น ทั้งกลัวไม่ทัน ทังกลัวเจ้าหน้าที่ดุ ทั้งสนุกมาก ๆ ที่ได้ไปเที่ยวต่างเมืองกับเพื่อนๆ ที่เริ่มจะสนิทกันมากขึ้นแล้วหล่ะ)



หลังจากอยู่ Kobe ได้ประมาณ 3 – 4 วัน ก็ได้เวลาที่เราเคลื่อนพลกันไปยัง Toyama Prefecture โดยรถบัสค่ะที่ทาง JICA จัดไว้สำหรับพวกเราโดยเฉพาะค่ะ ประกอบด้วยพวกเราผู้นำเยาวชนทั้ง 15 คน และพี่ล่ามผู้น่ารักทั้งสองคน

Toyama Prefecture หรืออาจจะเรียกแบบเทียบเคียงกับจังหวัดของไทยเป็น “จังหวัด Toyama” เป็นเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ทางชายฝั่งทางตะวันออกของญี่ปุ่น และมีเทือกเขา Tateyama ล้อมรอบ ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทาง JICA จึงจัดให้เรามาเรียนรู้ระบบการส่งเสริม SMEs ของญี่ปุ่นที่จังหวัดแห่งนี้ค่ะ



ซึ่งเราก็ไม่ผิดหวังจริง ๆ ค่ะ ที่นี่เราได้เรียนรู้ระบบการส่งเสริม SMEs ของญี่ปุ่นในแบบภาพรวมของทั้งระดับประเทศผ่านหน่วยงานของรัฐบาลกลาง และระดับจังหวัดผ่านหน่วยงานของจังหวัด รวมถึงระดับท้องถิ่นผ่านหน่วยงานของเทศบาล นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้ระบบการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการซึ่งรวมตัวกันเพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันอีกด้วย

สิ่งเหล่านี้ทาง JICA ได้จัดโปรแกรมให้เราได้เรียนรู้อย่างเป็นระบบเพื่อให้เข้าใจภาพรวมและในขณะเดียวกันก็ต้องเอามาเปรียบเทียบกับระบบของประเทศไทยของเราด้วยเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการนำกลับมาใช้ได้มากที่สุด



ช่วงเวลาระหว่างที่เราเรียนรู้ในการฝึกอบรมนี้ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้การเรียนในห้องค่ะ สิ่งนั้นคือ “Program Report” ค่ะ ที่เราทั้ง 15 คน ต้องกระจายตัวออกเป็น 3 กลุ่มเพื่อทำและนำเสนอโครงการที่เป็นรูปธรรมจากความรู้ที่ได้รับในการฝึกอบรม (บรรยากาศความจริงจังเริ่มเข้ามาแล้ว กิกิ)



ความจริงจังแต่ Program Report ที่เราต้องทำส่งยังไม่พอค่ะ  JICA ยังได้จัดให้มีที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์ ปรับปรุง และพัฒนา SMEs (ซึ่งที่ญี่ปุ่นเป็นวิชาชีพเฉพาะด้านที่ต้องได้รับใบอนุญาตให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาได้ เรียกว่า “ชินดันฉิ” ค่ะ ) มาเป็นที่ปรึกษาโครงการให้กับพวกเราอีกด้วย ซึ่งท่านที่ปรึกษานี้เค้าจะมีไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลาค่ะ แต่จะมาเป็นช่วงเวลาเพื่อเฝ้าดูความคืบหน้าของเราพร้อมทั้งให้ความรู้ คำปรึกษาและคำแนะนำกับพวกเรา

เราโชคดีที่ได้เจอที่ปรึกษาที่ใจดีและน่ารักมาก มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท ตั้งใจ ใส่ใจในรายละเอียดต่าง ๆ ของพวกเรา จนในที่สุดพวกเราก็ทำ Program Report ออกมาได้อย่างตรงตามวัตถุประสงค์ของ JICA และเรียบร้อยทั้ง 3 กลุ่มค่ะ



นอกจากนั้น ทาง JICA ยังจัดให้เราได้มีโอกาสเข้าไปดูงาน ทัศนศึกษาทั้งในบริษัทที่ “เคย” เป็น SMEs มาก่อน อย่างบริษัท YKK ซึ่งเคยเป็นบริษัทประจำตำบลในจังหวัด Toyama จนกลายเป็นบริษัทผู้ส่งออกซิปและอุปกรณ์ต่าง ๆ รายใหญ่ของโลก และ บริษัท Kokando ซึ่งเป็นบริษัทที่เริ่มมาจากการขายยาแผนโบราณและตอนนี้ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้นพร้อมกับการส่งออกไปค้าขายยังต่างประเทศ รวมทั้งบริษัท โคจิน ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอะไหล่รถยนต์ ที่กำลังเป็น “SMEs” คือ อยู่ในขณะนี้ด้วย
 

 

ทาง JICA มีวัตถุประสงค์ให้เราเห็นได้ว่าบริษัทที่เคยเป็น SMEs มาก่อนมีความเป็นมาและพัฒนาการอย่างไร และบริษัทที่เป็น SMEs ในขณะนี้มีระบบการบริหารจัดการและได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากองค์กรต่าง ๆ อย่างไรบ้าง เพื่อให้ได้เห็นชีวิตจริงๆ ในภาคปฏิบัตินอกจากทฤษฏีที่เราได้รับจากในห้องเรียนค่ะ

พูดเรื่องเรียน เรื่องการฝึกอบรมหนัก ๆ มาเยอะแล้ว ทีนี้เราจะพาออกนอกเรื่องฝึกอบรม 2 เรื่องค่ะ

เรื่องแรกคือ เรื่องเที่ยวค่ะ พวกเรามีวันหยุดที่ติดต่อกัน 2 วัน (คือ วันเสาร์และอาทิตย์) เราจึงวางแผนกันไปเที่ยว Tateyama Kurobe ค่ะ ที่นี่ขึ้นชื่อว่าเป็น Japan Alps (เจแปน แอลป์) นะคะ

แต่เนื่องจากช่วงที่เราไปเป็นช่วงที่อุทยานได้ปิดทางขึ้นเขาส่วนที่อยู่ด้านบนไปแล้วค่ะ และวันที่เราไปก็เป็นวันสุดท้ายที่อุทยานจะเปิดทำการ เราจึงขึ้นเขาไปได้แค่เพียง 1 สถานี เท่านั้นค่ะ แต่ที่ 1 สถานีเนี่ย กว่าที่เราจะได้ไปถึงก็ต้องนั่งรถไฟกันไปเป็นชั่วโมง และไปต่อรถไฟของอุทยานกันอีกทีค่ะ เรียกว่ามันไม่ได้ไปกันง่าย ๆ เลย



และภาพที่เราได้เห็นอยู่ตรงหน้าก็สวยงามมากอย่างกับเมืองในฝันที่มีภูเขาหิมะน้ำแข็งล้อมรอบเราอยู่ตรงหน้าทั้งหมดค่ะ และด้วยความที่เราไปกันในวันสุดท้ายก็ทำให้มีนักท่องเที่ยวที่ไม่เยอะนอกจากเรา 15 คน แล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีอีกประมาณ 3-4 คน เท่านั้น เราเลยรู้สึกได้ว่า ในเวลานั้นเรานี่แหละเป็นเจ้าของเมืองในฝันนี้แต่เพียงผู้เดียว ฮ่า ฮ่า ฮ่า



เราสนุกกันในภูเขาหิมะจนลืมอุณหภูมิว่าอากาศติดลบถึง 23 องศาเซลเซียส ไม่ผิดแน่ค่ะ -23 องศา (เราก็เพิ่งมารู้ตอนกลับที่พี่คนนึงบอกเราว่าในจอวัดอุณหภูมิขึ้นว่า -23 องศาเซลเซียสแหน่ะ…. ตอนนั้นก็ช๊อคอยู่เหมือนกันค่ะ)




หลังจากนั้น เราก็ได้ไปเยี่ยมชมฝั่งเมืองใหม่ที่ทางจังหวัด Toyama จัดผังเมืองใหม่กันค่ะ เราได้ล่องเรือไปตาม Canal Park ที่มีสวนสาธารณะที่สวยและโรแมนติกมาก ๆ (Canal Park แห่งนี้อาจเป็นสวนสาธารณะธรรมดา ๆ แต่ส่วนตัวเรา เราชอบที่นี่มากเลย ถึงขนาดที่เคยเดินเล่นจากโรงแรมมาย้อนกลับมาที่นี่คนเดียว และเป็นความรู้สึกดีมาก ๆ จนถึงตอนนี้ยังจำบรรยากาศวันนั้นได้อยู่เลยค่ะ)



วันต่อมาเรานัดกันไปเที่ยวอีกแล้ว ฮี่ ๆ วันนี้เรานัดไปเริ่มต้นที่ Kanasawa ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจาก Toyama และไปเที่ยวสวนญี่ปุ่นเค็นโระกุเอ็นและพระราชวัง ในวันฝนพรำกัน ทำให้รู้ว่าเที่ยวแบบฝนพรำเราก็ความสุขไปอีกแบบนะคะ หลังจากนั้นเราก็ไปแวะตลาดปลาสดกัน เพื่อไปดูว่าคนญี่ปุ่นเค้าซื้อขายของกันยังไง และกินกันยังไง (แต่เราเน้นอันหลังมากกว่า ฮ่าๆ จนเราได้เจอร้านปลาดิบที่อร่อยมากที่สุดเท่าที่เคยกินมาเลย ทั้งสด ทั้งหวาน ทั้งมัน …… รสชาติยังติดตราตรึงใจ)




หลังจากนั้นเราก็ขึ้นรถบัสมุ่งหน้าตรงไปยังหมู่บ้านมรดกโลก “Takayama” ซึ่งเป็นหมู่บ้านโบราณดั้งเดิมที่มีสถาปัตยกรรมเฉพาะด้านที่มาจากภูมิปัญญาการสร้างบ้านในแถบที่อากาศหนาวมากและมีหิมะปกคลุมอยู่เกือบจะตลอดทั้งปี ซึ่งพอมาถึงหมู่บ้านนี้ก็สวยงามและคุ้มค่ากับการนั่งรถมาหลายชั่วโมงจริง ๆ ค่ะ



มาถึงเรื่องที่สองที่อยากเล่าให้ฟังค่ะ ด้วยความโชคดีของพวกเราที่รับโอกาสให้ไปใช้ชีวิตแบบ Home Stay กับครอบครัวชาวญี่ปุ่นเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งทาง JICA จะจัดให้เรานะคะว่าเราจะได้ไปอยู่กับครอบครัวไหน

เราเองเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดของผู้นำเยาวชนที่เข้ารับการฝึกอบรมในครั้งนี้ ดังนั้น เราจึงได้อยู่กับครอบครัวนาคะยะม่า ที่มีคุณพ่อ คุณแม่ วัย 43 ปี และลูกน้อยน่ารัก 2 คน คนนึง 6 ขวบ อีกคนนึง 3 ขวบค่ะ  ครอบครัวของเราน่ารักมากที่เตรียมการต้อนรับให้กับเราเป็นอย่างดี ทั้งคุณพ่อและคุณแม่เคยมาเมืองไทยแล้วเมื่อหลายปีที่ผ่านมา คุณพ่อเคยมาเที่ยวจึงเอารูปถ่าย (เมื่อกว่า 10 ปี ที่แล้วมาให้เราดูพร้อมกับเล่าเรื่องราวให้ฟังค่ะ) คุณแม่เคยมาเป็นคุณครูอาสาสมัครสอนภาษาญี่ปุ่นที่จังหวัดสงขลาเป็นเวลา 3 ปี เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วด้วย ก็เลยพอจะรู้จักและจำคำภาษาไทยบางคำได้ค่ะ



ตอนเช้าของวันแรก คุณแม่พาเราไปบ้านเพื่อนของคุณแม่เพื่อทำโมจิญี่ปุ่นกินกันและจะได้สอนให้เราเรียนรู้การทำขนมญี่ปุ่นด้วย ที่นี่เราได้พบกับเพื่อนของคุณแม่อีก 3 คน พร้อมกับลูก ๆ ของบรรดาเพื่อนคุณแม่อีกรวมแล้วเจอเด็กประมาณ 10 กว่า คนได้ค่ะ เรียกได้ว่า พามาปาร์ตี้กับเด็ก ๆ ได้เลย ตอนแรกดูวุ่นวายมาก ๆ แต่ไป ๆ มา ๆ เวลาที่เราเริ่มทำโมจิกัน คุณแม่ ๆ ก็ให้ลูก ๆ มาช่วยกันทำค่ะ ตั้งแต่ตำข้าวเหนียวด้วยครกขนาดใหญ่กว่าตัวเด็ก ๆ อีก แล้วก็การทำหน้า Topping ของโมจิ เด็ก ๆ ก็จะมาช่วยปั้นพร้อมกับคลุกค่ะ ความสนุกในเวลานี้ เราเห็นว่าเป็นการสอดแทรกสำนึกและประสบการณ์ที่ดีให้กับเด็ก ๆ ให้รู้ที่มาและรู้ถึงความลำบากในการเตรียมอาหารให้เราได้กิน นอกจากนั้นยังช่วยพัฒนาทักษะของเด็ก ๆ อีกด้วย (คิดไกลไปมั๊ยเรา กิกิ)



หลังจากนั้น เราก็กลับมายังบ้านของครอบครัวนาคายาม่ากันค่ะ บ้านนี้ไม่มีทีวีไม่มี internet นะคะ มีแต่วิทยุเพื่อเปิดแผ่นเสียง เพราะคุณพ่อบอกว่า เค้าต้องการให้คนในบ้านสื่อสารกันให้มากที่สุด และลูก ๆ ของเค้ายังไม่ถึงวัยที่จะรับรู้ถึงเรื่องราวในทีวีบางเรื่อง หากลูก ๆ อยากดูการ์ตูน ก็จะให้อ่านจากในหนังสือ หากคุณพ่อคุณแม่อยากจะรับรู้ข่าวสารก็จะหาอ่านจากหนังสือพิมพ์ที่รับทุกวันค่ะ เราเองรับรู้ได้ถึงความอบอุ่นของครอบครัวนี้จริง ๆ ค่ะ




เย็นวันนั้น ที่บ้านเลี้ยงโอโคโนะมิยะกิ (พิซซ่าญี่ปุ่น) ให้เราค่ะ คุณแม่บอกว่าเป็นอาหารง่าย ๆ ที่ชอบทำเลี้ยงที่บ้านกันเดือนละ 1-2 ครั้ง (แต่เราเห็นว่ามันก็ไม่ได้ทำง่ายขนาดนั้นนะ) บอกได้เลยว่าเป็นโอโคโนะมิยะกิที่อบอุ่นและอร่อยที่สุดเท่าที่เคยกินมา เราเห็นอาหารชนิดนี้ที่เมืองไทยเมื่อไหร่ เราคิดถึงครอบครัวนี้และบรรยากาศในคืนวันนั้นตลอดเลย

เช้าวันต่อมา คุณพ่อพาเด็ก ๆ ไปร่วมกันเตรียมการจัดงานคริสมาสต์ที่สถานที่หนึ่งคล้าย ๆ กับศูนย์รวมของชุมชน คุณแม่พาเราไปแวะเพื่อดูเด็ก ๆ ร่วมกิจกรรม จากนั้นคุณแม่พาเราไปบ้านโบราณในแถบหมู่บ้านแถวนั้นและไประบายสีตุ๊กตาแบบญี่ปุ่น หลังจากนั้นคุณพ่อกับเด็ก ๆ ก็ตามมาเจอกัน เพื่อเดินกลับบ้านพร้อมกัน




แปลกแต่จริงที่เราชอบการเดินขึ้นเขากลับบ้านมากที่สุด ทั้ง ๆ ที่คุณพ่อสามารถเอารถขับมารับพวกเราได้ แต่จำได้ว่าตอนขามา เราคงแสดงความตื่นเต้นกับการเดินขึ้นเขามากไปรึเปล่า ฮ่า ฮ่า พอคุณแม่ถามว่าขากลับอยากนั่งรถกลับหรืออยากเดินกลับ เราก็ตอบกลับไปทันทีเลยว่า อยากเดินกลับค่ะ ฮี่ๆ

แล้วท่านก็ทำตามความปรารถนาของเรา ทางเดินกลับบ้านเป็นทางที่โรแมนติกอีกเช่นกัน เพราะมีทั้งใบไม้เปลี่ยนสีและร่วงหล่นเป็นพรมให้เราเดินไปตลอดทางเดิน ระหว่างทางเราเจอจุดชมวิวที่มีมุมให้เราเห็นเทือกเขา Tateyama ในมุมกว้างที่สวยมาก ๆ ด้วย เราประทับใจช่วงเวลาที่เดินด้วยกัน 5 คน เพราะทำให้เรารู้สึกว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้จริง ๆ

เมื่อมาถึงตรงนี้ ยังมีอีกหลายสิ่งที่อยากเล่า แต่ให้เล่าเท่าไหร่ก็ไม่หมด และไม่เหมือนกับการได้ไปสัมผัสด้วยตัวเองแน่นอน เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ คนไหนที่มีคุณสมบัติครบและอยากไปสัมผัสประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหนอีกแล้วนอกจากที่นี่ ลองเขียนใบสมัครเข้ามานะคะ รับรองว่าจะได้สิ่งที่มีค่ามากกว่า “การไปเที่ยว” แบบที่เราตั้งใจไว้ในตอนแรกแน่นอนค่ะ

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณ Japan International Cooperation Agency (JICA)  สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและ ผู้สูงอายุ (สท.) และพี่ ๆ เจ้าหน้าที่ทั้งคนญี่ปุ่นคนไทยที่เกี่ยวข้องทุกคน พี่ ๆ ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนที่เป็นเพื่อนร่วมเดินทางและใช้ช่วงเวลาแห่งความสุขในครั้งนี้ร่วมกัน ขอบคุณจากใจจริงค่ะ




หวังว่าพวกเราทุกคนจะสามารถปฏิบัติภารกิจเป็นผู้นำเยาวชนในการร่วมมือกันพัฒนาระบบการส่งเสริมและให้การสนับสนุน SMEs ในประเทศของเราให้พัฒนาและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในที่สุดนะคะ


ปีนี้ใกล้จะหมดเขตปิดสมัครแล้วนะคะ สนใจแล้วลองคลิกที่ลิงค์ข้างล่างเพื่อดูรายละเอียดได้เลยค่ะ

http://www.opp.go.th/fileupload/news/fileup/300557_1401438852.pdf
http://www.opp.go.th/information_news.php?category=1
http://www.thaiwahclub.com/news/144/Introducing-JICA-Training-Programs-for-Young-Leaders/

Updated by Vnuch l Online Marketing & Graphic Designer l Beyond Study Center l June 2014