ข่าวสาร >
2020
April
22
สัมภาษณ์ กวาง - อารยา กุลนพฤกษ์ นักเรียนทุน Endeavour ปี 2018
โดย : Adminstrator ( จำนวนผู้เข้าชม 11563 คน )

 •       แนะนำตัวคร่าวๆหน่อยครับ

 

 

สวัสดีค่า ชื่อ อารยา กุลนพฤกษ์ ชื่อเล่นกวางค่ะ กวางเรียนจบด้านการแสดงดนตรีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เครื่องดนตรีเอกฟลูต หลังจากเรียนจบก็ทำงานหลายอย่างทั้งสอนดนตรี เล่นดนตรี และทำงานประจำเป็น High School Music Instructional Assistant ที่ โรงเรียนนานาชาติ ISB ค่ะ 

 

•       ชอบอะไร ทำไมถึงมีความสนใจ-เรียนต่อด้านสอนดนตรี มีความยากยังไงในการเรียนด้านนี้บ้าง

 

ชอบความรู้สึกเวลาเห็นนักเรียนพัฒนาค่ะ อยากพาเค้าไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่สนใจมาเรียนด้านนี้เพราะพอได้เจอกับนักเรียนหลายๆแบบก็ยิ่งได้เรียนรู้ เหมือนนักเรียนเป็นครูของเราไปด้วย กวางอยากพัฒนาตัวเองด้านการสอน เช่นพวกจิตวิทยาในการสอน แล้วก็อยากพัฒนาฝีมือการเล่นของตัวเองด้วย เลยมาเรียน Master of Music Performance Teaching ที่ University of Melbourne ค่ะ ความยากในการเรียนด้านนี้คือมันควบทั้งการแสดงและการสอน มีหลายอย่างที่ต้องทำไปพร้อมๆกัน ทั้งซ้อมดนตรี ทั้งทำงานส่ง ทั้งโปรเจคของแต่ละวิชา

 

 

 

•       รู้จักทุน Endeavour ได้อย่างไร, อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้สมัครทุนนี้ครับ

 

เพื่อนชวนสมัครค่ะ ประกอบกับมีรุ่นพี่ที่เคยได้ทุน Endeavour มาเรียนสาขานี้เหมือนกัน ก็เลยลองดู ตอนนั้นคิดว่าถ้าได้ก็ดี ไม่ได้ก็ถือเป็นประสบการณ์ชีวิต อย่างน้อยเราก็ได้ความรู้อะไรเพิ่มขึ้น

 

•       การเตรียมตัวในการสมัคร ใช้เวลาเตรียมตัวนานแค่ไหน

 

คือพอเพื่อนชวนสมัครประมาณเดือนกุมภาปีที่แล้ว ก็เริ่มเลยค่ะ ตั้งแต่สอบ IELTS, audition เข้ามหาวิทยาลัย, แล้วก็สมัครทุน Endeavour มีเวลาในการเตรียมตัวน้อยมาก ลุ้นกันตลอดว่า จะผ่านแต่ละขั้นตอนไหม ผลออกทันเวลากันไหม

 

•       คิดว่าอะไรเป็นจุดแข็ง – จุดอ่อนของเราในการใช้ประกอบการยื่นทุนนี้

 

คิดว่าจุดแข็งคือหลังจากที่ทำงานมาสักพักแล้วกวางแน่ใจมากๆว่า อยากจะเรียนอะไร เพื่ออะไร พอเป้าหมายมันชัดเจน ทำอะไรก็ง่ายขึ้นค่ะ ส่วนเรื่องจุดอ่อนน่าจะเป็นสไตล์การเขียน statement ใน draft แรกๆ กวางจะติดกับวัฒนธรรมบ้านเราที่ชอบถ่อมตัว ไม่ค่อยเขียนจุดเด่นของตัวเอง เลยดูไม่น่าสนใจเท่าไหร่

 

•       สิ่งที่เราคิดว่าเป็นสิ่งที่ยาก หรือท้าทายที่สุดในการขอทุนนี้

 

คิดว่าเป็น การเขียน statement นี่ล่ะค่ะ เขาจำกัดคำน้อยมาก หัวข้อละไม่เกิน 200-300 คำ มันเลยยาก เพราะต้องเขียนให้รู้เรื่อง ต้องสื่อถึงตัวเราและความตั้งใจของเราภายในคำที่จำกัดมาก แถมไม่มีการสอบสัมภาษณ์ด้วย คือทุกอย่างวัดกันที่แค่นี้เลย

 

•       คิดว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เราได้ทุนนี้บ้างครับ

 

คิดว่าอาจจะเป็นการสื่อตัวตนของเราออกได้ตรงใจกรรมการพอดีมั้งคะ (ยิ้ม)
แล้วก็เรื่อง Referee report ก็สำคัญมากค่ะ นอกจากกรรมการจะรู้จักเราจาก statement เราแล้ว เขายังได้รู้จักเราจากมุมมองของคนอื่นด้วย
กวางขอให้อาจารย์ 2 คนที่เคยทำงานด้วยช่วยเขียนให้ เพราะคิดว่าถ้าเคยร่วมงานกัน เขาจะรู้ว่าเราเป็นคนยังไง ทำงานเป็นยังไงค่ะ
ช่วงนั้นเกรงใจอาจารย์มากเพราะทั้งสองท่านช่วยเขียนให้ทั้งของมหาวิทยาลัยแล้วก็ของทุนด้วยค่ะ และสุดท้ายน่าจะเป็นกำลังใจจากคนรอบข้างที่ทำให้มีทุกวันนี้ เวลาที่ท้อก็ยังทำให้มีแรงต่อไปค่ะ

 

•     พูดถึง background นิดนึงภาษาอังกฤษและเกรดตอนป.ตรีเป็นยังไงบ้างครับ

 

ภาษาอังกฤษของกวางก็ถือว่าใช้ได้ค่ะ เคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเลยพอมีประสบการณ์อยู่บ้าง ส่วนเกรดตอนป.ตรีได้ 3.88 ค่ะ

 

•       ช่วยแนะนำวิธีการในการฝึกภาษาอังกฤษเพิ่มเติมและเขียน Essay หน่อยครับ

 

สิ่งสำคัญคือวินัยค่ะ ฝึกบ่อยๆในแบบที่ตัวเองทำไหว อาจจะเริ่มจากวันละนิดแล้วค่อยๆเพิ่มขึ้น ถ้าหักโหมเกินไป สองสามวันก็เบื่อเพราะฝืนตัวเอง

 

ตอนที่กวางเขียน statement ก็คิดแค่ว่าอยากจะสื่อความตั้งใจของเราให้ออกมาแบบจริงใจที่สุด แบบนี่แหละตัวฉัน อีกอย่างที่อยากแนะนำคือให้คนที่มีประสบการณ์ขอทุนช่วยอ่าน statement ของเราค่ะ บางทีเราคิดว่าเขียนดีแล้ว พอได้คำแนะนำก็จะรู้ว่าเราเขียนอ่อนไปไหม ควรเพิ่มเติมไหม อย่างของกวางกว่าจะได้ final draft ก็เขียนๆแก้ๆไปหลายรอบมาก ต้องขอขอบคุณหลายๆท่านมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

 

•       หลังจากได้รับทุนแล้วรู้สึกยังไงบ้างครับ

 

รู้สึกดีใจแบบงงๆค่ะ วันที่ประกาศผลนั่งอ่านอีเมลซ้ำไปซ้ำมาแบบ ใช่จริงเหรอ นี่คือได้เหรอ เค้าส่งผิดรึเปล่า จนมาถึงที่นี่แล้วยัง งง ว่า เอ๊ะนี่เรามาจริงๆใช่มั้ย คือไม่ได้ฝันใช่มั้ย

 

•       รู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้เป็นตัวแทน (Representative) ของทุนตอนนี้

 

รู้สึกขอบคุณที่ทาง Endeavour ให้โอกาสได้มาเรียนต่อค่ะ ก่อนหน้านี้คิดว่าคงไม่มีโอกาสได้มาเรียนต่างประเทศ จะพยายามให้ดีที่สุดค่ะ

 

•       การเรียนที่นี่(ออสเตรเลีย)กับที่ไทยแตกต่างกันบ้างไหมครับ

 

พอเรียนปริญญาโท ทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเองกันทั้งเรื่องงานและเรื่องเรียน อันนี้คิดว่าที่ไหนๆก็คงเหมือนกัน แต่ที่นี่มีนักเรียนหลายเชื้อชาติมาเรียนด้วยกัน ทำให้ได้มุมมองหลายๆแบบดีค่ะ มีอยู่วันนึงครูให้แต่ละคนพูดเกี่ยวกับ background การศึกษาของตัวเอง จะเห็นเลยว่าแต่ละที่มีจุดดีจุดด้อยต่างกันไป อันไหนที่ฟังแล้วรู้สึกว่าดีก็เอาไปปรับใช้ในการสอนของตัวเองได้ค่ะ

 

•       กิจกรรมนอกห้องเรียน / เพื่อนๆ เป็นอย่างไรบ้างครับ

 

ช่วงนี้เป็นช่วงแรกๆ เลยยังต้องปรับตัวกับการเรียน นอกเวลาเรียนก็มีไปเที่ยวบ้าง ไปดูคอนเสิร์ตบ้าง เพื่อนๆน่ารักดีค่ะ มีทั้งคนออสเตรเลีย และ เอเชีย บรรยากาศการเรียนดีมาก ทุกคนเรียนแบบให้กำลังใจกัน รู้สึกอบอุ่นมากค่ะ

 

•       มีวางแผนจะทำอะไรต่อหลังจากที่เรียนจบบ้างครับ

 

ตอนนี้ยังไม่ได้มีแผนอะไรยิ่งใหญ่ขนาดนั้นค่ะ แค่ได้เป็นครูที่ดีขึ้น ได้ใช้ความรู้พัฒนานักเรียนต่อๆไปก็ดีใจมากๆแล้วค่ะ

 

 

•อุปสรรคที่พบในการตัดสินใจเรียนด้านดนตรีที่ไทย

 

กวางได้ยินคำว่า ศิลปินไส้แห้ง หรือ เต้นกินรำกิน อยู่บ่อยๆ หลายๆคนคิดว่าเรียนดนตรีแล้วจะทำให้ไม่มีอาชีพที่มั่นคงเลยไม่อยากให้ลูกหลานเรียนค่ะ ตอนที่ตัดสินใจมาเรียนด้านนี้ก็ถูกคัดค้านเยอะมากเหมือนกัน แต่ก็ขอบคุณทางบ้านที่สุดท้ายก็ไว้ใจในตัวกวางและให้ทำในสิ่งที่ชอบค่ะ สุดท้ายแล้วอยู่ที่ตัวคนมากกว่า ไม่ว่าเรียนอะไรถ้าตั้งใจและขยันฝึกฝนก็มีอาชีพมั่นคงได้ทั้งนั้น ทำสิ่งที่ชอบจะทำให้เรามีแรงฮึดสู้ค่ะ

 

 

 

•ฝากถึงน้องๆเยาวชนที่สนใจด้านดนตรี

 

ถ้าสนใจเรียนทางด้านดนตรีก็ต้องขยัน มีวินัย หมั่นฝึกฝนพัฒนาฝีมือ อีกอย่างกวางคิดว่าเล่นดนตรีควรเล่นให้สนุกค่ะ ในบ้านเราการเล่นดนตรีเป็นเรื่องไกลตัว หมายถึงดนตรีไม่ค่อยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เด็กๆเดี๋ยวนี้มีโอกาสเรียนดนตรีกันตั้งแต่อายุน้อยๆ บางทีเรียนไปเบื่อๆไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็ลองหาเป้าหมายการเล่นดนตรีดูค่ะ เช่นหาโอกาสไปเล่นกับคนอื่นๆ อย่างที่บ้านเราก็มีวงเยาวชนดีๆให้เข้าร่วม หรืออาจจะตั้งวงเล่นกับเพื่อนๆ หรือฝึกเล่นเพลงโปรดของคุณพ่อคุณแม่ไว้เซอร์ไพรส์ตอนวันเกิด หรือเอาไปเล่นจีบสาว ฯลฯ  ก็น่าจะทำให้สนุกขึ้นได้ค่ะ

 

 

•       ฝากอะไรถึงคนที่สนใจอยากจะลองสมัครทุนนี้

 

อย่ารอค่ะ เพราะในชีวิตเราไม่มีทางรู้เลยว่าโอกาสจะมาถึงเราเมื่อไหร่ พัฒนาตัวเองให้พร้อมไว้เสมอ ถึงเวลาจะได้พร้อมลุยค่ะ สู้ๆนะคะ

ติดตามครูกวางและการสอนทฤษฎีดนตรีเพิ่มเติมกันได้ทาง Facebook และ Youtube ครับ