ข่าวสาร >
2020
January
13
เช็คให้ชัวร์ ข้อควรรู้ก่อนแชร์ภาพแผนที่ไฟป่าในออสเตรเลีย
โดย : Adminstrator ( จำนวนผู้เข้าชม 1957 คน )

     แนะนำข้อสังเกตในการเช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์ข้อมูลภาพถ่ายแผนที่แสดงไฟป่าในออสเตรเลีย

     ก่อนหน้านี้ในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพที่อ้างว่าเป็นภาพถ่ายดาวเทียมจาก NASA แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ในออสเตรเลีย ทั้งที่จริงแล้วรูปนั้นกลับเป็นภาพที่ทำจำลองขึ้นมาเองแบบสามมิติ จึงเกิดการแชร์ข้อมูลเท็จขึ้น

ภาพที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นภาพถ่ายจาก NASA / IMAGE : anthony_hearsey

 

     ดังนั้นทาง thaiwahclub จึงได้นำบทความของ Dr Juan Pablo Guerschman มาแปลให้อ่านกัน เพื่ออธิบายให้เห็นว่าเราจะมีวิธีสังเกตอย่างไรว่าข้อมูลที่เห็นเป็นภาพถ่ายที่ได้จากดาวเทียมจริงๆ

 

     1. ภาพสะท้อน

     มีดาวเทียมไร้คนขับจำนวนมากกำลังโคจรและถ่ายภาพโลกไว้ใช้สังเกตการณ์ไฟป่าแบบเรียลไทม์ ซึ่งภาพพวกนี้มักจะเป็นภาพสะท้อนคล้ายๆกับเวลาเรามองออกมานอกหน้าต่างเครื่องบิน แต่ภาพที่เห็นจะอยู่ในมุมที่สูงกว่าและแสดงให้เห็นพื้นที่ได้กว้างกว่า

     ข้อมูลภาพสะท้อนนั้นจะบันทึกข้อมูลในช่วงของสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้าระยะที่มองเห็นได้ หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือสิ่งที่เราสามารถมองเห็น แม้ว่าดาวเทียมจะสามารถจับภาพในระยะที่กว้างกว่านั้นได้ เช่น ระยะคลื่นอินฟราเรด

     ภาพที่ถ่ายมาจะไม่ได้แสดงขอบเขตกำหนดพื้นที่ของประเทศเนื่องจากลักษณะทางกายภาพ ดังนั้นจึงมักจะมาร์คจุดแสดงสถานที่เพื่อใช้ประโยชน์จากภาพดาวเทียม

     จากภาพตัวอย่างที่ให้มาสามารถคาดการณ์ได้ว่าบริเวณไหนที่มีไฟไหม้บ้าง โดยดูจากจุดที่มีควันไฟ

IMAGE : NASA Worldview / https://go.nasa.gov/2TafEMH

 

     2. สีบนภาพที่ผิดเพื้ยน

     แถบคลื่นอินฟราเรดระยะสั้นมีความไวต่อไฟมากกว่าความไวต่อควัน นั่นหมายถึงว่าภาพพวกนี้สามารถบอกเราได้ว่าพื้นที่จุดไหนที่กำลังมีไฟไหม้บ้าง และพื้นที่ไหนที่ถูกไฟไหม้ไปแล้ว

     การแปลงระยะคลื่นอินฟราเรดให้เป็นภาพที่ตามนุษย์มองเห็นได้ มักจะทำให้เกิดสีของภาพที่ผิดเพี้ยนเหมือนดังตัวอย่างภาพด้านล่าง

     ควันไฟจะแสดงให้เห็นเป็นภาพสีเทาจางๆ สีแดงแสดงให้เห็นจุดที่กำลังมีไฟไหม้ ส่วนสีน้ำตาลแสดงให้เห็นบริเวณที่ถูกไฟไหม้ไปแล้ว

 

IMAGE : NASA Worldview / https://go.nasa.gov/2NhzRfN

 

     3. จุดความร้อน

     การใช้ภาพสะท้อนสามารถใช้ได้เฉพาะภาพที่ได้จากดาวเทียมในเวลากลางวัน ในขณะที่จุดความร้อนหรือ thermal hotspots สามารถระบุจุดที่เกิดไฟไหม้ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน 

     thermal hotspots จะใช้วัดค่าว่าบริเวณใดที่มีค่าความร้อนหรือความเย็น โดยจุดที่มีความร้อนหรือ hotspots สามารถใช้สืบหาจุดที่มีไฟไหม้ได้

     นอกจากนี้ยังสามารถใช้ข้อมูลสร้างแผนที่รวบรวมข้อมูลพื้นที่ที่มีความร้อนในช่วงหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือนได้ด้วย

 

ภาพแสดงให้เห็นสีที่ผิดเพี้ยนพร้อมจุดความร้อนที่เป็นสีแดง / IMAGE : NASA Worldview / https://go.nasa.gov/2rZNIj9

 

     นอกจาก 3 ข้อข้างบนแล้วยังมีข้อสังเกตอื่นๆอีก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแชร์ข้อมูลผิดๆอีก

  • ตรวจสอบว่าภาพแผนที่มีที่มาจากไหน และใครเป็นคนทำขึ้น
  • แผนที่เป็นภาพจากดาวเทียมเพียงอย่างเดียวหรือมีการใช้จุดความร้อนแสดงบนแผนที่ด้วย
  • สีที่แสดงบนภาพเป็นอย่างไร
  • ช่วงเวลาที่ภาพถูกถ่ายขึ้น
  • แผนที่ได้รวบรวมจุดความร้อนระยะเวลานานเท่าใด เช่น 1 วัน หรือ 1 ปี
  • จุดความร้อนได้แสดงบนพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้จริงหรือไม่

 

     ข้อสังเกตต่อไปนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ช่วยให้เรารู้ว่าข้อมูลที่ถูกแชร์บนออนไลน์ เป็นภาพจริงหรือถูกทำขึ้นมา 

     ดูบทความดั้งเดิมได้ทางลิงก์ The Conversation